วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554

ระบาด หน่วยที่ 4 (รุ่น สรุปโดยอาจารย์)

หน่วยที่ 4 วิทยาการระบาดเชิงพรรณนา

                การดำเนินงานระบาดวิทยาในปัจจุบัน เช่น การเฝ้าระวังโรค การสอบสวนโรค การคัดกรองโรค  เป็นต้น  นำไปสู่การวางแผนควบคุมและป้องกันโรค จำเป็นต้องทราบข้อมูลต่างๆ ที่สามารถนำไปวิเคราะห์สถานการณ์ของปัญหาการเกิดโรคหรือปัญหาทางด้านสาธารณสุขต่างๆ มาใช้เป็นตัวชี้วัดและการกำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานทางด้านการควบคุมและป้องกันโรค  
                วิทยาการระบาดเชิงพรรณนา (Descriptive Epidemiology) หมายถึง การศึกษาสถานการณ์ของปัญหาทางด้านสาธารณสุขหรือการเกิดโรคของประชากรที่ต้องการศึกษา ในลักษณะรูปแบบ (Pattern) ขนาด (Size of Problem) ของโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นในประชากรและการกระจาย (Distribution) ของปัญหาเหล่านั้นจำแนกไปตามลักษณะของ เวลา (Time) สถานที่ (Place) และบุคคล (Person) โดยการพรรณนาหรือบรรยายที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพิสูจน์ความเป็นเหตุและผลและการพิสูจน์สมมติฐานใดๆ แต่จะนำไปสู่การสร้างสมมติฐาน (Hypothesis) และศึกษาต่อไปได้
                การศึกษาวิทยาการระบาดเชิงพรรณนาเป็นการศึกษาเพื่อค้นหาหรือเพื่อศึกษาสภาวะของสุขภาพอนามัยของประชาชนที่เป็นอยู่ในขณะนั้น และนำมาประมวลผลว่า สถานการณ์ทางสุขภาพนั้นเป็นปัญหาและมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด เพื่อนำไปวางแผนแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต่อไป โดยอธิบายการเกิดปัญหาสุขภาพอนามัย หรือการเกิดโรคต่างๆ และมุ่งเน้นศึกษาค้นคว้าเพื่อตอบคำถามต่างๆ เกี่ยวกับสุขภาพอนามัยของประชาชน
วัตถุประสงค์ของการศึกษาวิทยาการระบาดเชิงพรรณนา
                1. พรรณนาหรืออธิบายสถานการณ์ปัญหาสุขภาพอนามัยของประชาชน (โรค) โดยพรรณนาสภาพปัญหาสุขภาพอนามัยแบบภาพรวมในพื้นที่ ซึ่งครอบคลุมประชากรในพื้นที่ที่รับผิดชอบ โดยตอบคำถามในเรื่องมีปัญหาอะไรบ้าง มากน้อยเพียงใด
                2. พรรณนาการกระจาย (Distribution) ของปัญหาสุขภาพอนามัยของประชาชน (โรค) จำแนกตาม เวลา (Time) สถานที่ (Place) บุคคล (Person)
                3.  พรรณนาเฉพาะบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพอนามัยเกิดขึ้น (Case Report หรือ Case Series) ในลักษณะรูปแบบ (Pattern) ของการเกิดโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีสถานการณ์การระบาดของโรค เช่น ช่วงที่มีการระบาดไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นต้น
                4.  พรรณนาลักษณะการดำเนินของโรคนั้นๆ (Natural History of Diseases) เช่น ระยะฟักตัว (Incubation Period) ระยะแสดงอาการ ระยะติดต่อของโรค อาการและอาการแสดง (Signs and Symptoms) ระดับความรุนแรงของโรคระดับต่างๆ (Severity) รวมไปจนถึงการตายเนื่องจากการเจ็บป่วยด้วยโรคนั้น โดยรวบรวมข้อมูลจากผู้ป่วยเท่านั้น
ขั้นตอนในการดำเนินงานทางด้านวิทยาการระบาดในการควบคุมป้องกันโรค เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีมี 7 ขั้นตอน
                ขั้นตอนที่ 1 วิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพอนามัย (Health Situation Analysis) โดยใช้หลักการศึกษาวิทยาการระบาดเชิงพรรณนา ซึ่งเป็นการนำข้อมูลจากการดำเนินงานทางด้านระบาดวิทยา เช่น การเฝ้าระวังโรค  การสำรวจ การคัดกรองโรค เป็นต้น และข้อมูลจากแหล่งต่างๆ  มาเชื่อมโยงแล้วทำการวิเคราะห์สถานการณ์ทางสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบตามตัวชี้วัดที่สำคัญ
                ขั้นตอนที่ 2 ระบุปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ (Health Problem Identification) โดยนำสถานการณ์สุขภาพอนามัยต่างๆ ที่วิเคราะห์ได้จากขั้นตอนที่ 1 มาพิจารณาเทียบกับเกณฑ์ซึ่งถูกกำหนดเป็นดัชนีชี้วัดถึงระดับปัญหา นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อปัญหาเหล่านั้นร่วมด้วย ดังนั้นในพื้นที่หนึ่งอาจมีปัญหาสุขภาพอนามัยมากกว่า 1 ปัญหาก็ได้
                ขั้นตอนที่ 3 จัดลำดับความสำคัญของปัญหาสุขภาพอนามัย (Priority Setting) ขั้นตอนนี้กระทำเมื่อมีปัญหาสุขภาพอนามัยจากขั้นตอนที่ 2 มากกว่า 1 ปัญหา โดยนำปัญหาเหล่านั้นมาพิจารณา 4 ประการด้วยกัน ได้แก่  1) ขนาดของปัญหาสุขภาพอนามัย (Magnitude of Problem) โดยใช้การป่วย ความพิการ หรือการตาย ซึ่งใช้อัตราต่างๆ ที่ได้จากวิทยาการระบาดเชิงพรรณนามาพิจารณา  2) ความรุนแรงของปัญหาสุขภาพอนามัย (Severity of Problem) เช่น มีอัตราการตายจากสาเหตุจากการป่วยด้วยโรคนั้นหรือไม่ โดยพิจารณาจากอัตราป่วยตาย (Case Fatality Rate) โรคนั้นมีระยะเวลาการนอนในโรงพยาบาล (Hospital Stay) นานมากน้อยเพียงใด เสียค่ารักษาพยาบาล (Cost) มากน้อยเพียงใด เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาว่า โรคนั้นมีผลกระทบต่อชุมชน สังคม (Impact) ด้วย ในส่วนนี้ต้องใช้ผลจากวิทยาการระบาดเชิงพรรณนาในส่วนลักษณะของการดำเนินโรค (Natural History of  Disease) 3) ความยากง่ายในการแก้ปัญหา (Possibility of Solving Problem) โดยพิจารณาโอกาสสำเร็จในการดำเนินการแก้ไขปัญหา เช่น เมื่อดำเนินการแก้ปัญหาแล้วทำให้ปัญหาลดลงหรือหมดไปได้ หรือโรคนั้นมีแนวทางในการป้องกันได้ หรือสามารถรักษาให้หายได้  เป็นต้น ในส่วนนี้ต้องมีการศึกษาหาความรู้ทางด้านวิทยาการระบาดเกี่ยวกับประสิทธิผลของวิธีการควบคุมและป้องกันโรค และ 4) ความตระหนักของชุมชน (Community Concern) ในการแก้ปัญหาสุขภาพอนามัยของประชาชนต้องใช้แหล่งทรัพยากรจากชุมชน และความร่วมแรงร่วมใจจากชุมชน โดยใช้ผลจากวิทยาการระบาดเชิงพรรณนาเกี่ยวกับความตระหนักต่อปัญหาทางสุขภาพที่มีอยู่ในพื้นที่ มาร่วมพิจารณา หรือการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ
                การใช้เงื่อนไข 4 ประการร่วมพิจารณาความสำคัญของปัญหาอาจมีการให้คะแนนแล้วนำคะแนนมารวมกันเพื่อจัดลำดับความสำคัญของปัญหาสา ถ้าพบว่า ปัญหาใดเป็นปัญหาเร่งด่วนหรืออยู่ในอันดับที่ 1 จะดำเนินการแก้ปัญหาก่อน
                ขั้นตอนที่ 4 การวิเคราะห์สาเหตุแห่งปัญหา (Problem Analysis) เป็นการวิเคราะห์หาสาเหตุแห่งปัญหา โดยใช้หลักการศึกษาทางวิทยาการระบาดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Epidemiology) เพื่อทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่น่าจะเป็นสาเหตุของการเกิดโรคกับการเกิดโรค โดยมีการทดสอบสมมติฐาน ประกอบด้วย ปัจจัยบุคคล (Host) ปัจจัยของสิ่งที่ทำให้เกิดโรค (Agent) และปัจจัยสิ่งแวดล้อม (Environment)
                ขั้นตอนที่ 5 การคัดเลือกวิธีการขจัดปัจจัยที่เป็นสาเหตุนั้น (Selection of  Causes of Disease) เมื่อได้สาเหตุแห่งปัญหาสุขภาพอนามัยนั้นแล้ว จะกำหนดวางแผนเพื่อการควบคุมป้องกันโรค หรือแก้ปัญหาสุขภาพอนามัย โดยพิจารณาหรือศึกษาวิธีการที่มีประสิทธิภาพหรือผลสัมฤทธิ์ที่ดีที่สุดในการดำเนินงาน ในขั้นตอนนี้อาจใช้วิทยาการระบาดเชิงทดลอง (Intervention Studies)
                ขั้นตอนที่ 6 การดำเนินการแก้ไขปัญหาสุขภาพอนามัยในชุมชน หรือดำเนินการควบคุมป้องกันโรค (Implementation) ในขั้นตอนนี้จะต้องดำเนินการเฝ้าระวังโรคควบคู่ไปด้วย
                ขั้นตอนที่ 7 การประเมินผลโครงการ (Program Evaluation) โดยใช้วิทยาการระบาดเชิงพรรณนาเพื่อศึกษาสถานการณ์ทางด้านสุขภาพอนามัย และวิทยาการระบาดเชิงวิเคราะห์เพื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังการดำเนินการควบคุมป้องกันโรค เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของมาตรการการควบคุมป้องกันโรคนั้น
                จะเห็นได้ว่า วิทยาการระบาดเชิงพรรณนามีบทบาทสำคัญตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1 ถึงขั้นตอนที่ 3 และยังเป็นพื้นฐานในขั้นตอนอื่นต่อ ๆ ไปอีกด้วย
การเก็บรวบรวมข้อมูล
            ข้อมูลที่นำมาใช้ในการศึกษาวิทยาการระบาดเชิงพรรณนา มี 2 แหล่ง ดังนี้
                1. ข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ (Operational Data) ที่เก็บรวบรวมเป็นประจำ แหล่งข้อมูลเหล่านี้ถ้ามีการนำจากหน่วยงานอื่นที่ดำเนินการรวบรวมไว้มาใช้ในการวิเคราะห์ เรียกว่า ข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Data)
                ข้อดีของข้อมูลทุติยภูมิคือ หาได้ง่าย ประหยัดเวลา  สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที และสามารถวิเคราะห์แนวโน้มของสถานการณ์สุขภาพของประชาชนได้
                ข้อเสียของข้อมูลทุติยภูมิคือ มีความผิดพลาดสูง ขาดความสมบูรณ์ คำจำกัดความหรือนิยามของสิ่งที่จะบันทึกไว้แต่ละหน่วยงานอาจแตกต่างกัน
                2. ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจเป็นครั้งคราว เป็นข้อมูลที่ไม่ได้เก็บรวบรวมเป็นประจำ                              2.1 ข้อมูลจากการสำมะโน (Census) หมายถึง ข้อมูลที่ได้การวางแผนเก็บรวบรวมข้อมูลของประชากรที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้งหมด
                            ข้อดีของการสำมะโนคือ เป็นข้อมูลที่ครอบคลุมประชากรทุกราย สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ทางสุขภาพจำแนกเป็นกลุ่มย่อยๆ ได้อย่างครอบคลุม
                            ข้อเสียของการสำมะโนคือ ฐานข้อมูลใหญ่มาก  มีความผิดพลาดจะตรวจสอบความผิดพลาดยากมากขึ้นตามขนาดฐานข้อมูล ประมวลผลช้า ไม่สามารถดำเนินการได้บ่อยๆ
                        2.2 ข้อมูลจากการสำรวจ (Survey)  หมายถึง ข้อมูลที่ได้จากการวางแผนการสำรวจสภาวะสุขภาพโดยการสุ่มตัวอย่าง (Sampling Method) และเก็บรวบรวมบางส่วนของประชากร หรือตัวอย่าง (Sample) ที่เป็นตัวแทนประชากร (Represent Population) การศึกษาลักษณะนี้เรียกว่า การสำรวจภาคตัดขวาง (Cross Sectional Survey)
                            ข้อดีของการสำรวจคือ ประหยัดเวลา และประหยัดงบประมาณ ตัวอย่างมีขนาดที่สามารถเป็นตัวแทนประชากรได้ (Represent Population) ค่าสถิติต่างๆ ที่ได้ เช่น อัตราชุก สัดส่วน ค่าเฉลี่ย  เป็นต้น จะมีค่าเท่ากับหรือใกล้เคียงกับของประชากร มีความถูกต้องสูง น่าเชื่อถือ และมีความสมบูรณ์ในการบันทึกข้อมูล เพราะมีการวางแผนล่วงหน้า มีการให้คำจำกัดความในลักษณะเดียวกัน
                            ข้อเสียของการสำรวจคือ มีการวางแผนการวิธีการสำรวจโดยการคำนวณขนาดตัวอย่าง (Sample Size Calculation) ที่เหมาะสม โดยการกำหนดค่าโอกาสความผิดพลาดชนิดที่ 1 (Type I Error; a) ค่าความคลาดเคลื่อนจากการสุ่ม (Sampling Error) ในรูปแบบของขนาดความคลาดเคลื่อนจากค่าพารามิเตอร์ของประชากร (Error from Parameter; d) ค่าสถิติที่ได้ต้องนำไปประมาณค่าเป็นช่วงที่ระดับความเชื่อมั่น 95% (95% Confidence Interval of  Parameter) สามารถวิเคราะห์ในระดับนั้นไม่สามารถวิเคราะห์ในระดับที่เล็กลงได้  ใช้งบประมาณค่อนข้างมากและต้องใช้บุคลากรในการเก็บรวบรวมข้อมูลในภาคสนามที่อาจมีความแตกต่างกัน
การสร้างสมมติฐานของการศึกษาวิทยาการระบาดเชิงพรรณนา
       1. ประเภทของสมติฐานในการศึกษาวิทยาการระบาด (Hypothesis in Epidemiological Studies)
                1.1 สมมติฐานเกี่ยวกับการเปรียบเทียบความแตกต่างของการเกิดโรค (Difference)
                1.2 สมมติฐานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ (Association)
             1.3 สมมติฐานเกี่ยวกับการพยากรณ์ผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (Prognostic Hypothesis)
                1.4 สมมติฐานเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือในการคัดกรองโรค (Screening Test)
       2. ผลที่ได้จากการศึกษาทางวิทยาการระบาดเชิงพรรณนา (Results from Descriptive Epidemiology)
                2.1 ผลจากการพรรณนาหรืออธิบายสถานการณ์ปัญหาสุขภาพอนามัยของประชาชน (โรค) ในพื้นที่
                2.2 ผลเกี่ยวกับการเกิดโรคมีการกระจายไปตามเวลา สถานที่ และบุคคล
                2.3  ผลจากการศึกษาคุณลักษณะเฉพาะบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพอนามัยเกิดขึ้น
                2.4 ผลจากศึกษาลักษณะการดำเนินโรคนั้น
                แต่ผลที่ได้จากการศึกษาทางวิทยาการระบาดเชิงพรรณนา สามารถนำมาสร้างสมมติฐานทางวิทยาการระบาด ซึ่งมี 3 ประเภทดังนี้
                1)  ผลจากการพรรณนาหรืออธิบายสถานการณ์ปัญหาสุขภาพอนามัยของประชาชน (โรค) ในพื้นที่
                2) ผลจากการศึกษาคุณลักษณะเฉพาะบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพอนามัยเกิดขึ้นที่ได้จากการรายงานผู้ป่วย
                3) ผลจากศึกษาลักษณะของโรคนั้นๆ
       3. การสร้างสมมติฐานจากการศึกษาเชิงพรรณนา (Formulation Hypothesis)
                ประยุกต์มาจากวิธีการของจอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) ทำได้ 3 วิธี ดังนี้
3.1 วิธีพิจารณาจากความแตกต่างของการเกิดโรค (Method of Difference)
3.2 วิธีพิจารณาจากความสอดคล้องของการเกิดโรค (Method of Agreement)
3.3วิธีพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงของการเกิดโรคกับปัจจัยต่างๆ (Method of Concomitant Variation)
                การตั้งสมมติฐานโดยวิธีใด จะต้องอาศัยข้อมูลพื้นฐานจากลักษณะทั่วไปของโรค และการพรรณนาลักษณะการเกิดโรค ที่จะก่อประโยชน์ในการนำมาตั้งสมมติฐานที่เกี่ยวกับการเป็นสาเหตุของโรคได้นั้น ควรอธิบายโดยยึดลักษณะที่สำคัญ 3 ประการ ดังนี้
        -      โรคเกิดขึ้นกับ บุคคล ประเภทใด ? (Person Characteristics)
        -      โรคเกิดใน สถานที่ใดบ้าง ? (Place)
        -      การเกิดโรคมีการเปลี่ยนแปลงตามเวลา หรือไม่ ? (Time)
การอธิบายระดับปัญหาสาธารณสุขจำแนกตามบุคคล
          การอธิบายระดับปัญหาสุขภาพอนามัยหรือการเกิดโรคในชุมชนหรือในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เช่น การป่วย ความพิการ การตาย เป็นต้น มีการใช้ตัวชี้วัดการเกิดโรคหรือปัญหาสุขภาพอนามัยคือ จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคที่สนใจ สัดส่วนของผู้ป่วยด้วยโรคที่สนใจ อัตราต่างๆ  ของโรคที่สนใจ เพื่อวัดความมากน้อยของปัญหาสุขภาพหรือโรคที่เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดโดยรวม (Crude Index) ไม่สามารถระบุกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพอนามัยได้ แต่ถ้ามีการวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพจำแนกตามคุณลักษณะบุคคล อายุ เพศ เชื้อชาติ/สัญชาติ สถานภาพสมรส ครอบครัว อาชีพ การศึกษา ฯลฯ  ผลที่ได้นี้เรียกว่า การวิเคราะห์การกระจายของโรคหรือปัญหาสุขภาพอนามัยของประชาชน (Distribution) และสามารถนำมาเปรียบเทียบกับการเกิดโรคในกลุ่มลักษณะของบุคคลต่างๆ เพื่อนำไปสู่การป้องกันและควบคุมโรคหรือศึกษาปัจจัยส่วนบุคคลต่อการเกิดโรคได้
การอธิบายระดับปัญหาสาธารณสุขจำแนกตามสถานที่
                ในการศึกษาการเกิดโรค คำถามที่มักจะเป็นที่สนใจ นอกไปจากที่เกี่ยวกับบุคคลที่เป็นโรคคือ สถานที่ที่เกิดโรค โดยเฉพาะโรคเกิดที่ใดมากที่สุด และที่ใดน้อยที่สุด ความแตกต่างของลักษณะของสถานที่ ระหว่างแหล่งที่เกิดโรคมากกับเกิดโรคน้อย อาจจะนำไปสู่คำตอบเกี่ยวกับสาเหตุของโรคได้  ดังนั้นในการวิเคราะห์ข้อมูลการเกิดโรค จึงมักเปรียบเทียบอัตราการเกิดโรคหรือการตาย ตามสถานที่ต่างๆ


การอธิบายระดับปัญหาสาธารณสุขจำแนกตามเวลา
                ในการศึกษาวิทยาการระบาดเชิงพรรณนาของการเปลี่ยนแปลงของโรคตามเวลา มักจะเป็นการตอบคำถามเหล่านี้คือ เมื่อใดที่โรคเกิดมาก และเมื่อใดที่โรคเกิดน้อย โรคที่เกิดในขณะนี้มากหรือน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเวลาที่ผ่านมา
รูปแบบการศึกษาวิทยาการระบาดเชิงพรรณนา
           1.การศึกษาวิทยาการระบาดเชิงพรรณนาแบบภาพรวม  การวิจัยวิทยาการระบาดเชิงพรรณนาแบบภาพรวม (Ecological or Correlation Studies) เป็นการอธิบายการเกิดโรคในประชากรทั้งหมด ในเชิงความสัมพันธ์กับปัจจัยบางอย่าง เช่น อายุ การบริโภคอาหารบางชนิด อาชีพ การเปลี่ยนแปลงในมลภาวะของอากาศ เป็นต้น  เป็นการศึกษาในระดับมหภาค (Macro Level) เพื่อให้เป็นพื้นฐานในการสร้างสมมติฐานเกี่ยวกับการเป็นสาเหตุของโรคสำหรับการวิจัยเชิงวิเคราะห์ต่อไป
        2. การศึกษาวิทยาการระบาดเชิงพรรณนาแบบรายงานผู้ป่วย  การศึกษาแบบนี้ใช้วิธีการรวบรวมข้อมูลจากผู้ป่วยเป็นรายบุคคล หรือเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคเดียวกัน
            3. การศึกษาวิทยาการระบาดเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง  การศึกษาวิทยาการระบาดเชิงพรรณนา (Cross-Sectional Study)  หมายถึง การศึกษาที่กระทำโดยการสำรวจในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งในประชากรกลุ่มเป้าหมาย ในการกระทำดังกล่าว การเจ็บป่วยและปัจจัยอื่นที่คิดว่า จะเกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยนั้นจะถูกวัดไปพร้อมๆ กัน หรือในเวลาเดียวกัน  ซึ่งจะคล้ายกับเป็นภาพตัดขวางของประชากรไปในช่วงเวลาหนึ่ง และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโรค และปัจจัยเสี่ยงตลอดจนสภาวะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานะสุขภาพอนามัย (Health Status) ความต้องการและความรู้สึกต่อบริการการแพทย์และสาธารณสุขของประชาชนในช่วงเวลานั้น เป็นต้น การศึกษาแบบนี้ จะได้ความชุกของโรค (Prevalence) ไม่ใช่อุบัติการณ์ (Incidence)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น